บรรดาอุละมาอ์มีมติเห็นพ้องอย่างเป็นเอกฉันท์ว่าอัลกุรอานนั้นได้รับการถ่ายทอดจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มาถึงเราด้วยวิธีการอ่านหลายแบบ โดยมีสายรายงานรองรับถูกต้องชัดเจนทั้งสิ้น ซึ่งอุละมาอ์ก็ได้เรียกศาสตร์การอ่านนี้ว่า “กิรออาตกุรอานิยะฮฺ คำว่า “กิรออาต” القراءات เป็นรูปพหูพจน์ของ “กิรออะฮฺ” قراءة ซึ่งมีรากศัพท์เดิมมาจากคำกริยา “เกาะเราะอา” قرأ (แปลว่าอ่าน) ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของศาสตร์นี้ก็คือ ศึกษาวิธีการอ่านอัลกุรอานในแบบต่างๆตามที่มีรายงานมาจากท่านนบี

ทั้งนี้ อุละมาอ์ได้แบ่ง “กิรออาต” ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ “กิรออาตเศาะหีหะฮฺ” (กิรออาตที่ถูกต้อง) และ “กิรออาตชาซซะฮฺ” (กิรออาตที่บกพร่อง)

ซึ่งเงื่อนไขของกิรออะฮฺที่ถูกต้องใช้ได้นั้น มี 3 ข้อคือ

1- ต้องตรงกับหลักภาษาอาหรับที่ถูกต้อง
2- ต้องตรงกับวิธีการเขียนของมุศหัฟอุษมาน (มุศหัฟที่ได้รับการรวบรวมเป็นครั้งสุดท้ายในยุคท่านอุษมาน)
3- ต้องได้รับการถ่ายทอดผ่านสายรายงานที่หลากหลาย และถูกต้องเชื่อถือได้

กิรออะฮฺใดที่มีลักษณะครบตามเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อนี้ ถือว่าเป็นกิรออะฮฺที่ถูกต้อง อนุญาตให้อ่านในละหมาดได้

และอุละมาอ์ก็มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า กิรออะฮฺอื่นนอกเหนือจาก “กิรออาตทั้งสิบแบบ” ที่ได้รับการรวบรวมไว้นั้น ถือว่าเป็นกิรออะฮฺที่ไม่ถูกต้อง ไม่อาจยึดถือว่าเป็นอัลกุรอานได้ และไม่อนุญาตให้อ่านในละหมาด

ซึ่งกิรออาตทั้งสิบแบบที่ได้รับการคัดเลือกและรวบรวม จากกิรออาตที่มีรายงานมาจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ด้วยสายรายงานที่หลากหลายและมีความถูกต้อง ผ่านนักรายงานที่มีความแม่นยำและละเอียดอ่อนนั้น มีดังนี้

1- กิรออะฮฺ นาฟิอฺ (บิน อับดุรเราะหฺมาน อัลมะดะนีย์ ตาย ฮ.ศ.169)
ผู้รายงานจากท่านที่มีชื่อเสียงมากที่สุด : กอลูน และ วัรชฺ

2- กิรออะฮฺ อิบนุกะษีรฺ (อับดุลลอฮฺ บิน กะษีร อัลมักกีย์ ตาย ฮ.ศ.120)
ผู้รายงานจากท่านที่มีชื่อเสียงมากที่สุด : อัลบัซซีย์ และ กุนบุล

3- กิรออะฮฺ อบูอัมรฺ (ซะบาน บิน อัลอะลาอ์ อัลบัศรีย์ ตาย ฮ.ศ.154)
ผู้รายงานจากท่านที่มีชื่อเสียงมากที่สุด : อัดดูรีย์ และ อัสสูสีย์

4- กิรออะฮฺ อิบนุอามิรฺ (อับดุลลอฮฺ บิน อามิรฺ อัลยะหฺเศาะบีย์ ตาย ฮ.ศ.118)
ผู้รายงานจากท่านที่มีชื่อเสียงมากที่สุด : ฮิชาม และ อิบนุ ซะกะวาน

5- กิรออะฮฺ อาศิม (บิน อะบินนุญูด อัลกูฟีย์ ตาย ฮ.ศ.127)
ผู้รายงานจากท่านที่มีชื่อเสียงมากที่สุด : ชุอฺบะฮฺ และ หัฟศฺ

6- กิรออะฮฺ หัมซะฮฺ (บิน หะบีบ อัลกูฟีย์ ตาย ฮ.ศ.156)
ผู้รายงานจากท่านที่มีชื่อเสียงมากที่สุด : เคาะลัฟ และ ค็อลลาด

7- กิรออะฮฺ อัลกิสาอีย์ (อลี บิน หัมซะฮฺ อัลกูฟีย์ ตาย ฮ.ศ.189)
ผู้รายงานจากท่านที่มีชื่อเสียงมากที่สุด : อบุล หาริษ และ อัดดูรีย์

8- กิรออะฮฺ อบูญะอฺฟัร (ยะซีด บิน อัลเกาะกออฺ อัลมะดะนีย์ ตาย ฮ.ศ.130)
ผู้รายงานจากท่านที่มีชื่อเสียงมากที่สุด : อิบนุวัรดาน และ อิบนุญุมมาซ

9- กิรออะฮฺ ยะอฺกูบ (บิน อิสหาก อัลมิศรีย์ ตาย ฮ.ศ.205)
ผู้รายงานจากท่านที่มีชื่อเสียงมากที่สุด : รุวัยสฺ และ รูหฺ

10- กิรออะฮฺ เคาะลัฟ (บิน ฮิชาม อัลบัซซารฺ ตาย ฮ.ศ.229)
ผู้รายงานจากท่านที่มีชื่อเสียงมากที่สุด : อิสหาก และ อิดรีส

อิหม่ามเจ้าของกิรออะฮฺทั้ง 10 ท่านนี้ได้รายงานกิรออาตเหล่านี้มาจากเศาะหาบะฮฺ หรือจากผู้ที่รายงานถ่ายทอดมาจากเศาะหาบะฮฺ สิ้นสุดไปยังท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ทั้งสิ้น ซึ่งแต่ละกิรออะฮฺก็จะมีวิธีการอ่านที่แตกต่างกันในหลายๆจุด ต้องศึกษาจากอุละมาอ์ผู้เชี่ยวชาญศาสตร์การอ่านอัลกุรอาน จึงจะทราบว่าแต่ละแบบนั้นมีวิธีการอ่านอย่างไรบ้าง จะอาศัยการฟังหรืออ่านเองตามลำพังไม่ได้โดยเด็ดขาด

สายรายงานที่ถ่ายทอดวิธีการอ่านในแบบกิรออาตต่างๆจากอิหม่ามเจ้าของกิรออะฮฺนั้น เรียกว่า “ริวายะฮฺ” เช่น ในข้อ 1 เรียกว่า กิรออะฮฺนาฟิอฺ ด้วยริวายะฮฺกอลูน หรือ ริวายะฮฺวัรชฺ เป็นต้น หรืออาจจะเรียกว่า ริวายะฮฺกอลูน หรือ วัรชฺ จากนาฟิอฺ ก็ได้ ซึ่งแต่ละริวายะฮฺใน 1 กิรออะฮฺนั้น ก็จะมีข้อแตกต่างปลีกย่อยบ้างในบางส่วน แต่ทั้งหมดก็ล้วนมีรายงานถูกต้องมาจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม

ในปัจจุบันนี้ กิรออะฮฺที่เป็นที่นิยมกันมากที่สุดในโลกมุสลิมมีดังนี้

– กิรออะฮฺอาศิม ด้วยริวายะฮฺหัฟศฺ : จะนิยมอ่านกันในประเทศแถบเอเชีย, อิยิปต์, อินเดีย, ปากีสถาน, ตุรกี, อัฟกานิสถาน, ประเทศอาหรับ และประเทศแถบแอฟริกาบางประเทศ อาจเรียกได้ว่า เป็นกิรออะฮฺที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้ (บ้านเราก็อ่านกิรออะฮฺนี้)

– กิรออะฮฺนาฟิอฺ ด้วยริวายะฮฺวัรชฺ : นิยมอ่านกันในประเทศแถบแอฟริกาตะวันตก (เช่น โมร็อกโค อัลญีเรีย ตูนีเซีย), ซูดาน และบางพื้นที่ในอิยิปต์ กิรออะฮฺนี้ถือว่าเป็นกิรออะฮฺที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับสอง

ส่วนกิรออะฮฺอื่นๆนั้น ก็มีอ่านกันในบางประเทศประปราย แต่ไม่ได้รับความนิยมในวงกว้างเหมือน 2 แบบที่กล่าวมา

# ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องย้ำอีกครั้งก็คือ การที่เราเรียกกิรออาตเหล่านี้ตามชื่ออุละมาอ์ เป็นการเรียกตามที่เป็นที่รู้จักกันในฐานะผู้รายงาน ไม่ได้หมายความว่า อุละมาอ์เหล่านั้นเป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นวิธีการอ่านของตัวเองขึ้นมา กิรออาตทั้งหมดล้วนมีรายงานชัดเจนต่อเนื่องไปถึงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม

http://www.eslam.de/bildergalerien/q/quran/quran_bildergalerie02.jpg
ตัวอย่างการอ่านสูเราะฮฺ “อะบะสะ” ด้วยกิรออะฮฺและริวายะฮฺต่างๆ
พร้อมมุศหัฟตามแต่ละริวายะฮฺแนะนำให้ฟังพร้อมดูข้อแตกต่างของแต่ละริวายะฮฺจากมุศหัฟเหล่านี้ด้วย
(จุดที่เป็นสีๆในมุศหัฟคือจุดที่อ่านต่างกัน)

1- กิรออะฮฺนาฟิอฺ

– ริวายะฮฺกอลูน :  มุศหัฟ   ไฟล์เสียง

– ริวายะฮฺวัรชฺ : มุศหัฟ   ไฟล์เสียง

2- กิรออะฮฺอิบนุกะษีรฺ

– ริวายะฮฺอัลบัซซีย์ : มุศหัฟ   ไฟล์เสียง

– ริวายะฮฺกุนบุล : มุศหัฟ   ไฟล์เสียง

3- กิรออะฮฺอบูอัมรฺ

– ริวายะฮฺอัดดูรีย์ : มุศหัฟ   ไฟล์เสียง

– ริวายะฮฺอัสสูสีย์ : มุศหัฟ   ไฟล์เสียง

4- กิรออะฮฺอิบนุอามิรฺ

– ริวายะฮฺฮิชาม : มุศหัฟ   ไฟล์เสียง

– ริวายะฮฺอิบนุซะกะวาน : มุศหัฟ   ไฟล์เสียง

5- กิรออะฮฺอาศิม

– ริวายะฮฺชุอฺบะฮฺ : มุศหัฟ   ไฟล์เสียง

– ริวายะฮฺหัฟศฺ : มุศหัฟ   ไฟล์เสียง   (แบบที่อ่านกันในเมืองไทย)

6- กิรออะฮฺหัมซะฮฺ

– ริวายะฮฺเคาะลัฟ :
มุศหัฟ   ไฟล์เสียง

– ริวายะฮฺค็อลลาด : มุศหัฟ   ไฟล์เสียง

7- กิรออะฮฺอัลกิสาอีย์

– ริวายะฮฺอบุลหาริษ : มุศหัฟ   ไฟล์เสียง

– ริวายะฮฺอัดดูรีย์ : มุศหัฟ   ไฟล์เสียง

8- กิรออะฮฺอบูญะอฺฟัร

– ริวายะฮฺอิบนุวัรดาน : ไฟล์เสียง

– ริวายะฮฺอิบนุญุมมาซ : ไฟล์เสียง

9- กิรออะฮฺยะอฺกูบ

– ริวายะฮฺรุวัยสฺ : ไฟล์เสียง

– ริวายะฮฺรูหฺ :
ไฟล์เสียง

10- กิรออะฮฺเคาะลัฟ

– ริวายะฮฺอิสหาก : ไฟล์เสียง

– ริวายะฮฺอิดรีส :
ไฟล์เสียง

# ไฟล์เสียงข้างต้นทั้งหมด อ่านโดย เชค อะหมัด อัลมิอฺเศาะรอวีย์ (ประธานคณะกรรมการตรวจทานมุศหัฟ ม.อัลอัซฮัร – อิยิปต์)

# ดูไฟล์เสียงสูเราะฮฺอื่นๆที่อ่านด้วยกิรออาตต่างๆได้ ที่นี่

** สรุปจาก www.islamweb.net

อนึ่ง การจะอ่่านในแบบกิรออาตต่างๆตามที่นำเสนอไปได้นั้น จะต้องเรียนจากครูผู้เชี่ยวชาญโดยตรงแบบปากต่อปาก (เหมือนที่เราเรียนอัลกุรอานด้วยริวายะฮฺหัฟศฺ จากอาศิม มาตั้งแต่เด็กนั่นแหละครับ) จึงจะอ่านได้ถูกต้องตามหลักการอ่าน ที่ได้รับการรายงานถ่ายทอดมาจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ผ่านบรรดาเศาะหาบะฮฺ และบรรดาอุละมาอ์ตลอดกว่าพันปีที่ผ่านมาครับ

การได้ฟังอัลกุรอานในแบบกิรออาตอื่นๆ ที่ต่างจากที่เราอ่านที่เราฟังอยู่เป็นประจำ บางทีมันก็ทำให้เกิดความรู้สึกแปลกใหม่ ให้ชวนฟังและติดตาม มันอาจจะเหมือนกับดุอาอ์อิสติฟตาห์ หรือดุอาอ์ต้นอื่นๆในละหมาดกระมัง? ถ้าเราอ่านต้นเดิมๆอยู่ทุกวัน ทุกครั้งที่ละหมาด มันก็อาจจะคล้ายกับว่าเราอ่านออกไปโดยอัตโนมัติ กลายเป็นความเคยชิน ทำให้อาจจะขาดการคิดตรึกตรองในสิ่งที่อ่านไป แต่ถ้าเราลองเปลี่ยนไปอ่านดุอาอ์ต้นอื่นๆ ที่มีรายงานมาจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เช่นเดียวกันดูบ้าง การละหมาดของเราก็จะมีอรรถรสมากขึ้น เพราะจะเกิดความรู้สึกแปลกใหม่

นอกจากนี้ การฟังกิรออาตอื่นๆ ยังทำให้รู้สึกถึงความมหัศจรรย์ล้ำลึกของอัลกุรอาน จะไม่ให้เป็นเช่นนั้นได้อย่างไร? ลองคิดดูสิครับ คำๆนึง อ่านได้ตั้งหลายแบบ หลายสไตล์ อายะฮฺเดียวกัน อ่านได้หลากหลาย แบบนึงหยุดตรงนี้ อีกแบบนึงหยุดอีกที่นึง คนนึงอ่านยาว คนนึงอ่านสั้น ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้ กลับไม่ได้ทำให้ความหมายเสียไปเลยแม้แต่น้อย!

สุบหานัลลอฮฺ.. วัลหัมดุลิลลาฮฺ.. วัลลอฮุอักบัร

———-

อัสรัน นิยมเดชา

เผยแพร่ครั้งแรก: ก.ค. 2552

ปรับปรุงแก้ไข: ส.ค. 2555